น้อมนำประราชดำรัส
มาเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
“9 คำสอน” ของ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ขอน้อมนำ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์และสิริมงคลแก่ชีวิต
ซึ่งพระบรมราโชวาทที่คัดเลือกมานี้สามารถ
นำไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันและ
แก้ไขปัญหาการทำงานได้ด้วย
1.คนดี
“
ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512)
2.อนาคตทำนายได้
“
ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เกิดที่เป็นอยู่แก่เราในวันนี้ ย่อมมีต้นเรื่องมาก่อน ต้นเรื่องนั้นคือ เหตุ สิ่งที่ได้รับคือ ผล และผลที่ท่านมีความรู้อยู่ขณะนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดผลอย่างอื่นต่อไปอีก คือ ทำให้สามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่ทำงานที่ต้องการได้ แล้วการทำงานของท่าน ก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลอื่นๆ ต่อเนื่องกันไปอีก ไม่หยุดยั้ง ดังนั้นที่พูดกันว่า ให้พิจารณาเหตุผลให้ดีนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ให้พิจารณาการกระทำหรือกรรมของตนให้ดีนั่นเอง คนเราโดยมากมักนึกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรเราทราบไม่ได้แต่ที่จริงเราย่อมจะทราบได้บ้างเหมือนกัน เพราะอนาคต ก็คือ
ผลของการกระทำในปัจจุบัน”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8 กรกฎาคม 2519)
3.ความดี
“
การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจและเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี”
(พระบรมราโชวาทพระราชทาน
แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สวนอัมพร 14
สิงหาคม 2525)
4.การทำงาน
“
เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ
ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และ ความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา
8 กรกฎาคม 2530)
5.คุณธรรมของคน
“
ประการแรก คือ ความซื่อสัตย์ ประการที่สอง
คือ การรู้จักข่มใจฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัตย์ความดีนั้น ประการที่สาม คือ
การอดทน อดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริต ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว
ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมคุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงาม จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุขความร่มเย็นและมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไป”
(พระบรมราโชวาท
ในพิธีบรวงสรวง สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า 5
เมษายน 2535)
6.ความเพียร
“
ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรม และพึงประสงค์นั้นคือความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่ อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงาม ให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไป อย่างหนึ่ง ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญ ต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ถ้าทุกคนในชาติจะได้ตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าว ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อม ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม”
(พระราชดำรัสพระราชทานในพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ ครบ 50 ปี พ.ศ.2539)
7.แก้ปัญหาด้วยปัญญา
“
ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีทางแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดให้ดี ปฏิบัติให้ถูก การคิดได้ดีนั้น มิใช่การคิดได้ด้วยลูกคิด หรือด้วยสมองกล
เพราะโลกเราในปัจจุบันจะวิวัฒนาการไปมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังไมมีเครื่องมืออันวิเศษชนิดใด สามารถขบคิดแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างสมบูรณ์
การขบคิดวินิจฉัยปัญหา จึงต้องใช้สติปัญญา คือคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทผิดพลาด และอคติต่างๆมิให้เกิดขึ้น
ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่างๆ เป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้เห็นเหตุเห็นผลที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นกระบวนการได้กระจ่างชัด ทุกขั้นตอน”
(พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 สิงหาคม 2539)
8. คนเราจะต้องรับและจะต้องให้
“
คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้
หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา
ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย
ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้”
(พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 20
เมษายน 2521)
9.พูดจริง ทำจริง
“
ผู้หนักแน่นในสัจจะพูดอย่างไร
ทำอย่างนั้น จึงได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญ
จากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริง ทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ
ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม”
(พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 10 กรกฎาคม 2540)
ขอบคุณที่มา : mthaiดอทคอม